ทักษะในการทำงานที่เจ้านายปรารถนา

โดย  คุณดุลยทัศน์  พืชมงคล

 

    

    ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีนักคิดทางตะวันตกจำนวนมากนำเสนอแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการองค์กรและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

     สืบเนื่องมาจากในยุคที่อุตสาหกรรมหนักกำลังเฟื่องฟูและสถานการณ์ความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากภาวะสงคราม นักคิดและนักทฤษฎีการบริหารจัดการส่วนใหญ่จึงมุ่งแสวงหาแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การทำงานให้ประสิทธิผลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่แรงงานหนึ่งหน่วยจนถึงผลผลิตในภาพรวมขององค์กรที่จะแสดงออกมาจากจำนวนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ใช้เวลาในการทำงานรวมถึงต้นทุนและของเสียจากการผลิตที่ลงต่ำลง  เรียกได้ว่าพยายามหาวิธีการต่างๆ นานา ที่จะทำให้คนงานหนึ่งคนทำงานได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

     จนทำให้ถูกนักทฤษฎีอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า แนวความคิดดังกล่าวมองเห็นมนุษย์เป็นเพียงเครื่องจักร ละเลยการให้ความสำคัญกับเรื่องของสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ภายในองค์กร จนเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและการทดลองจำนวนมาก ที่มุ่งวัดผลการทำงานของคนงานภายใต้สภาวะแวดล้อมการทำงานแบบเป็นทีม โดยคนงานแต่ละคนจะได้รับโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างการทำงานมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้บริหารและองค์กรมากขึ้น

     การทดลองที่กินระยะเวลายาวนาน ปรากฏผลออกมาว่า ประสิทธิภาพของงานดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ผู้บริหารได้รับรู้ปัญหาและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน สินค้าผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนและของเสียจากการผลิตน้อยลง การหมุนเวียนเปลี่ยนงานและการลาออกของคนงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด

     จากการวิเคราะห์พบว่า สาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากการร่วมแรงร่วมใจทำงานกันเป็นทีม คนงานมีความสุขและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ที่สำคัญคือคนงานมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับผู้บริหารและองค์กร กล่าวคือ เมื่อใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรื่องที่เห็นว่ายากก็กลายเป็นง่าย เรื่องที่ว่าหนักก็กลายว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องเบาลงไป

    ผลการวิจัยดังกล่าวนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแนวคิดเชิงการบริหารจัดการครั้งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมุมมองในด้านทักษะการทำงานของคนทำงานในสายตาของผู้บริหาร กระทั่งมาถึงยุคอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมบริการเฟื่องฟูเช่นในปัจจุบัน มุมมองการบริหารดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ในสหรัฐอเมริกา มีการสำรวจกันว่าคุณสมบัติหรือทักษะของคนทำงานในข้อใดที่ผู้บริหารหรือนายจ้างของบริษัทชั้นนำต้องการ

    ผลสำรวจที่ปรากฏออกมา ดูเหมือนจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะทักษะลำดับต้นๆในการทำงานตามสายตาของผู้บริหารของบริษัทระดับบิ๊กๆ ออกจะดูเหมือนกับคุณสมบัติที่คนกำลังมองหาคู่ชีวิตเขาใช้พิจารณากันมากกว่าที่จะเป็นบริษัทที่กำลังจะหาคนเข้ามาทำงาน

     ผลที่ออกมาคือ ทักษะที่ชนะเลิศการประกวดและได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 93 ของผู้ลงคะแนน) คือ “ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น”…รองมาคือ “ความสามารถในการทำงานเป็นทีม” (ร้อยละ 92) และ “ทักษะในการสื่อสารทำความเข้าใจ” (ร้อยละ 90) สามอันดับแรกไม่มีเรื่อง “ความเชี่ยวชาญ” หรือ “ความเก่งกล้าสามารถ” ! นั่นอาจเป็นสัญญาณที่สื่อความหมายได้ว่า ทิศทางการบริหารจัดการและการคัดสรรบุคลากรในยุคสมัยนี้ มีแนวโน้มที่จะมองความสัมพันธ์ของคนและสภาพแวดล้อมในการมากกว่าเรื่องของ “ฝีมือ” หรือ “พื้นฐานความรู้” ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ความสามารถนั้นไม่สำคัญ แต่ถ้าในสถานการณ์ที่เจ้านายหรือผู้บริหารมีความจำเป็นต้องพิจารณาเลือกคนสองคนหรือหลายคนที่ความรู้ความสามารถใกล้เคียงกันเข้ามาทำงานหรือแม้แต่โปรโมทให้สูงขึ้น ก็พอจะแทงหวยได้ก่อนว่า โอกาสของคนที่ครอบครองคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อที่ว่านี้มากกว่า น่าจะอยู่เหนือคู่แข่งขันคนอื่นๆ

     คนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และรักการทำงานเป็นทีม อีกทั้งยังเก่งกาจในการสื่อสารทำความเข้าใจกับคน ก็น่าจะเป็นคนที่สามารถสร้างผลสำเร็จของงานออกมาได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า และที่สำคัญคือควบคุมระดับของการเกิดความ “ขัดแย้ง” ในองค์กรได้น้อยกว่า จริงอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องคอยจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กรไปได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นน้อยลงไปได้บ้างก็คงจะปฏิเสธไปไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ย่อมจะประเสริฐกว่า

     นอกจากทักษะ 3 ลำดับแรกที่กล่ามาแล้ว ยังมีทักษะอื่นๆที่ผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐปรารถนาอีกสามสี่ข้อก็คือ ทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา ความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์, การสื่อสารด้วยการเขียน และทักษะความเป็นผู้นำ

     ผลสำรวจยังคงไม่ได้บอกว่า เรื่องความเก่งกาจ ผลการเรียน หรือความชำนาญในเรื่องงาน หล่นไปอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่… เป็นไปได้ที่ผู้บริหารยุคใหม่อาจจะมองว่า พื้นฐานความรู้ของคนที่สมัครงานกับบริษัทของเขาได้ผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะได้คนที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ที่จะต้องมาวัดกันในขั้นสุดท้ายจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า ใครจะเข้ามาร่วมทำงานกับองค์กรของเขาได้ดีที่สุด

     ว่ากันว่า ผู้บริหารสมัยนี้มององค์กรเหมือนวง “ออเครสต้า” ซึ่งเป็นวงขนาดใหญ่มีเครื่องดนตรีหลายชิ้น มีนักดนตรีหลายคน ซึ่งจะเล่นให้ไพเราะได้ก็ต้องอาศัยการประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพรียงและอยู่ภายใต้โน้ตเพลงเดียวกัน การกำกับคุมวงเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร นักดนตรีไม่จำเป็นต้องมีใครมีฝีมือที่โดดเด่นหรือเก่งกล้าเกินกว่าใครจนเห็นได้ชัด เพราะนั่นอาจทำเพลงที่บรรเลงออกมาฟังดูไม่ไพเราะเท่ากับการเล่นกันเป็นวง

 

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ