ความสำคัญของทรัพยากรบุคคลและการสื่อสารภายในองค์กร
โดย  คุณดุลยทัศน์  พืชมงคล 

 

     ปัจจุบันศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ตลอดจนศิลปะในการบริหาร และการสื่อสารภายในองค์กรได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า เป็นทักษะความรู้ที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารในทุกระดับ ทุกสายงาน และทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่คนทำงานรุ่นใหม่ๆที่เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าสู่ชีวิตการทำงานเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกระบวนการศึกษาในเชิงทฤษฎี และแนวคิดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์การบริหารยุคใหม่ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีความสำคัญที่สุดขององค์กร พร้อมกันนี้ก็เป็นปัจจัย ที่ท้าทายที่สุดสำหรับการบริหารด้วยเช่นกันที่ว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ยาก และท้าทายก็เพราะมนุษย์นั้นไม่ใช่ทุน หรือเครื่องจักร แต่มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีชีวิตจิตใจ มีรักมีชอบ มีโกรธมีเคือง มีความความแตกต่างหลากหลาย และมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง

    ดังนั้นการที่งาน และองค์กรจะก้าวไปข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใดนั้น จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในเรื่องของคนหรือที่เรียกว่ากระบวนการจัดการคน (Human Resource Management) และเรื่องของกระบวนการสื่อสารในมิติต่างๆ ของผู้บริหารเป็นสำคัญ

    อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้องค์กรหลายแห่งเริ่มมองไปไกลกว่านั้น องค์กรชั้นนำจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันมองว่าความสามารถในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และทักษะการสื่อสารที่เป็นเลิศนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคุณสมบัติที่พึงจะมีอยู่เฉพาะกับบุคคล ในระดับบริหารขององค์กรเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากพนักงานงานทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ในระดับบนสุดไปจนถึงระดับล่างสุดหรือแม้แต่พนักงานใหม่ จะมีทักษะและความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างถูกต้องเป็นพื้นฐาน เพื่อการประสานงาน และการขับเคลื่อนไปของกิจการงานต่างๆ ในภายองค์กรจะดำเนินไปด้วยความมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีระดับของความขัดแย้งที่เป็นภาวะสามัญทั่วไปของทุกองค์กรเกิดขึ้นในระดับที่ต่ำหรือเบาบางที่สุด อันเนื่องมาจากความพึงพอใจ และความสุขของทรัพยากรบุคคลที่อยู่ร่วมกันในองค์กร

     เมื่อไม่นานมานี้ มีการสำรวจวิจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงการ ให้ความสำคัญของทรัพยากรบุคคลและการสื่อสารที่น่าสนใจยิ่งเรื่องหนึ่ง โดยการสำรวจวิจัยดังกล่าวเป็นการสอบถามในเรื่องของคุณสมบัติหรือทักษะของคนทำงาน ที่ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ต้องการจะได้เข้ามาร่วมงานด้วยมากที่สุด

    ผลสำรวจในประเด็นนี้เป็นที่ฮือฮากันพอสมควร เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผลที่ออกมาผิดไปจากที่ผู้คนทั่วไปคาดหมายไว้ เนื่องจากผลสำรวจชี้ชัดว่า ทักษะหรือคุณสมบัติที่ผู้บริหารชั้นนำในสหรัฐอเมริกาปรารถนาจะพึงได้จากจากคนทำงานมากที่สุดก็คือ “ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น” รองมาคือ “ความสามารถในการทำงานเป็นทีม” และอันดับที่สามก็คือ “ทักษะในการสื่อสารทำความเข้าใจ”

    ซึ่งการที่ไม่ปรากฏทักษะในเรื่องของความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือการทำงานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ผิดพลาด หรือแม้แต่ความชำนาญพิเศษทางภาษาหรือสารสนเทศนั้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า แม้ในประเทศที่มีดูเสมือนหนึ่งว่า ให้ความสนใจในเรื่องทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีมากที่สุด ก็ยิ่งให้น้ำหนักเกี่ยวกับเรื่องของคน และการสื่อสารมากกว่าเรื่องอื่นใด

    เคยมีผู้ตอบข้อสงสัยในประเด็นที่ว่านี้ว่า ผู้บริหารในองค์กรที่มีมาตรฐานไปจนถึงองค์กรชั้นนำในประเทศต่างๆทั่วโลกต่างเชื่อมั่นว่า การแสวงหาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความรู้ความสามารถนั้นแม้เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ด้วยชื่อเสียงขององค์กรตลอดจนมาตรฐานในการคัดสรรบุคคลากรก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า องค์กรของตนเองจะสามารถคัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถได้เป็นอย่างดีและมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้บริหารระดับสูงจะใช้เป็นจุดตัดสินใจจากการเปรียบเทียบแคนดิเดททั้งหลายก็คือคำตอบที่สะท้อนออกมาจากผลสำรวจที่ว่ามานี้นั่นเอง

   ดังนั้น เพื่อโอกาสที่ดีกว่า และเพื่อชีวิตการทำงานที่จะต้องอยู่ในโลกขององค์กรร่วมกับเพื่อนร่วมงานและบุคคลต่างๆ นานๆ ที่ต้องพบปะร่วมงานมากหน้าหลายตา ในวันเวลาของชีวิตการทำงานโดยประมาณกว่า 40 ปี ของคนเรานี้ การที่จะเรียนรู้ทักษะในเรื่องการบริการทรัพยากรมนุษย์ และการสื่อสารภายในองค์กร ตลอดจนเรื่องจิตวิทยาการบริหาร จึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไปไม่ได้ว่าจะเป็นประโยชน์และน่าจะคุ้มแสนคุ้มเมื่อเทียบกับการที่บุคคลจะต้องใช้ประโยชน์จากความเข้าใจและทักษะที่ดีจากสิ่งเหล่านี้ต่อไปอีกนานหลายสิบปี

    สำหรับบางคนที่กำลังคิดไปว่าหน่วยงานหรือสาขาอาชีพที่ตนเองทำงานอยู่นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้มากเท่าไหร่นักอยู่นั้น ก็ขอให้มั่นใจว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิดพลาดแต่ประการใด เพียงแต่หากเปลี่ยนแปลงมุมมอง และทบทวนตรวจสอบบ้างในบางครั้งบางคราวก็น่าจะเป็นการดีว่า ที่ว่ามีการติดต่อสื่อสารหรือเกี่ยวข้องน้อยนั้น ใช่หมายความว่าสมควรที่จะต้องเพิ่มปริมาณ และคุณภาพการติดต่อสื่อสารทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการเพื่อสร้างประสิทธิภาพของงาน และความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่ อย่างไร ?

    แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพทางบัญชี แม้ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ปฏิเสธได้ยากว่าลักษณะงานในสายวิชาชีพนี้นั้น เป็นสายงานที่มีความเกี่ยวข้องกับงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการสื่อสารภายในองค์กรในระดับที่สูงที่สุดสายงานหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่งานในสายวิชาชีพนี้ได้รับการยกย่อง และยอมรับในระดับที่สูง และมีความสำคัญจนถึงขนาดที่องค์กร ทางวิชาชีพบัญชีหรือการเงินบางแห่ง มองว่าผู้บริหารระดับสูง หรือที่ปรึกษาทางสายงานบัญชี-การเงินนั้น ถือเป็นแบรนด์ หรือสื่อทางการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กรนั้นๆ กันเลยทีเดียว

    ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องมาจากงานด้านบัญชี-การเงินชีนั้น ต้องเกี่ยวข้องกับงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการสื่อสารตั้งแต่เรื่องงานประจำอย่างค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการพนักงาน ไปจนถึงเรื่องของการติดต่อสื่อสารทั้งกับบุคคลในภาย และภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจัดทำงบประมาณ งานบัญชีการเงินรายวัน งานรับวางบิล งานสต็อก การติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ

    จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ในระยะหลังๆที่ผ่านมา จะมีผู้ที่อยู่ในสายการศึกษา และสายงานบัญชีจำนวนไม่น้อย ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาความรู้ และทักษะทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการสื่อสารตลอดจนจิตวิทยาการบริหารกันมาขึ้นๆ ทุกวัน และโดยส่วนมากก็ได้รับผลในเชิงบวกทั้งต่อวิถีการทำงาน ต่อองค์กร ต่องาน ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อตนเองเป็นผลตอบแทน”

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ