จากประเด็นร้อนแรงที่กำลังกล่าวถึงนโยบายของภาครัฐกับการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ เรื่องการให้นิติบุคคลติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ “EDC” ตามนโยบาย National e-Payment ของภาครัฐ โดยเครื่องดังกล่าวจะช่วยให้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรอย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องราวใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็มักมีคำถามตามมามากมาย บทความในเดือนนี้ก็ได้รวบรวมคำถามและหาคำตอบมาให้คลายความสงสัยกัน เผื่อจะได้เป็นแนวทางในการทำงานและแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของท่านได้ค่ะ

คำถาม : เครื่อง EDC คืออะไร
ตอบ : อุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC) หรือที่เรารู้จักโดยทั่วไปในนาม “เครื่องรูดบัตร” นั่นเอง โดยปกติจะเห็นแต่การใช้กับบัตรเครดิต (Credit Card) แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป การชำระเงินปัจจุบันก็สามารถชำระผ่านบัตร Debit Card ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเครื่อง EDC นี้จะเข้ามารองรับการชำระเงินในจุดนี้ได้อย่างคล่องตัวและก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อกิจการ

คำถาม : ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีประเภทใดบ้างที่ต้องจัดให้มีเครื่อง EDC
ตอบ : ภายใต้พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 หมวดที่ 2 มาตรา 8 ได้กล่าวไว้ว่า ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ดังนั้นแล้ว เมื่อท่านเข้าข่ายในลักษณะนี้ก็เป็นกิจการที่จะต้องจัดให้มีเครื่อง EDC ตามที่กฎหมายกำหนด

คำถาม : นิติบุคคลที่มีการรับชำระเงินในรูปแบบเงินสดหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดให้มีเครื่อง EDC จำนวนกี่เครื่องและเมื่อจัดให้มีเครื่อง EDC แล้วต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ : (1) ต้องจัดให้มีอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์คือเครื่อง EDC อย่างน้อย 1 เครื่องต่อ 1 นิติบุคคล (2) เมื่อได้ติดตั้งเครื่อง EDC แล้วให้รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 15 วันนับตั้งแต่ติดตั้งเครื่อง EDC ตามแบบแจ้งการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีโดยรายงานผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

คำถาม : ผู้ให้บริการวางเครื่อง EDC คือใคร
ตอบ : การวางเครื่อง EDC นั้น ธนาคารที่ได้รับคัดเลือกให้วางอุปกรณ์รับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) มี 2 กลุ่ม คือ "กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์" ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และอีก 5 แบงก์จับมือกันในนาม "TAPS" (Thai Alliance Payment System) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK)

คำถาม : หากนิติบุคคลดำเนินการติดตั้งเครื่อง EDC ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ตอบ : อ้างอิงสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากพระราชกฤษฎีกา 640 พ.ศ. 2560 ประกาศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 โดยเจตนารมณ์เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นแล้วสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คือ
(1) ได้รับการยกเว้นค่าอุปกรณ์ค่าติดตั้งและค่าเช่าอุปกรณ์
(2) ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ
(3) สาหรับนิติบุคคลที่เป็น SMEs ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งจะสามารถนำค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้าจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตไปคำนวณเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า

คำถาม : หากผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลยังไม่มีการขายสินค้าหรือให้บริการต้องจัดให้มีเครื่อง EDC หรือไม่
ตอบ : ไม่ต้องจัดให้มีเครื่อง EDC แต่อย่างไรก็ดี หากอนาคตจะมีการรับชำระเงินและให้บริการแนะนำควรจัดให้มีเครื่อง EDC เพื่อสิทธิประโยชน์ในการติดตั้ง

คำถาม : นิติบุคคลจะติดตั้งเครื่อง EDC มากกว่า 1 เครื่องและเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการเครื่อง EDC มากกว่า 1 แห่งได้หรือไม่
ตอบ : สามารถกระทำได้และหากติดตั้งภายในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2561 จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการติดตั้ง

คำถาม : ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อใด
ตอบ : วันที่ 31 มีนาคมพ.ศ. 2560 เป็นต้นไป


บัญชี : CPD NEWS : MR.CPD
วารสาร : CPD&ACCOUNT กรกฎาคม 2560