ในยุคที่ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งและการแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างดุเดือด ในแง่หนึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องการบริหารจัดการให้ดี องค์กรหรือบริษัทต้องมีระบบการควบคุมจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้งทำให้องค์กรสามารถยืนอยู่ท่ามกลางการแข่งขันได้ เครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจ ที่เรียกว่า กลยุทธ์การบริหารต้นทุน (Strategic Cost Management) จึงถูกให้ความสำคัญ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นมาตรวัดความสำเร็จอย่างหนึ่งของกลยุทธ์การผลิตคือ การจัดโครงสร้างที่เหมาะสม การจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และการให้ข้อมูลบัญชีบริหาร ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารต้นทุนที่เป็นครื่องมืออันจะนำไปสู่ความสำเร็จของการผลิตซึ่งมีต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้ อันได้แก่

ระบบการบริหารโดยกิจกรรม (Activity based management: ABM) เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารต้นทุนเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งการวิเคราะห์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ให้ผู้บริหารเข้าใจภาพรวมของธุรกิจ และก่อให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องกันไปทั่วองค์กร ส่งผลให้เกิดการระบุต้นทุนและขจัดต้นทุนที่ไม่เพิ่มมูลค่า

ต้นทุนเป้าหมาย (Target Costing) จะช่วยในการวางแผนสำหรับกิจกรรมในผลิตภัณฑ์ใหม่ และใช้เป็นเครื่องควบคุมช่วงของการปฏิบัติการ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าสามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย ปัจจุบันราคาของสินค้าถูกกำหนดโดน “ราคาขายที่สามารถแข่งขันได้ (Competitive Price)” ต้นทุนเป้าหมายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนแรงกดดันของตลาดไปสู่การแสวงหาความร่วมมือ เพื่อลดต้นทุนและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การคำนวณนั้นสามารถทำได้ด้วยการหักกำไรที่ต้องการจากราคาเป้าหมาย ซึ่งอ้างอิงจากกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจะจ่ายพิจารณาประกอบราคาที่กำหนดโดยคู่แข่ง

วงจรชีวิตต้นทุน (Life-Cycle Costing) เป็นการคำนวณสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานระยะยาว ซึ่งสินค้าจะประกอบไปด้วยต้นทุน 3 ช่วงเวลาคือ ต้นทุนก่อนการผลิต ต้นทุนการผลิต และต้นทุนหลังการผลิต ซึ่งเป็นการนำเอาต้นทุนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มาคิดเป็นต้นทุนสินค้า ซึ่งวงจรชีวิตต้นทุนจะแบ่งออกเป็นสองมุมมอง คือ วงจรชีวิตต้นทุนผลิตภัณฑ์ ซึ่งแต่ละช่วงจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่ลอกเลียนแบบได้ยากกว่าจะมีวงจรชีวิตที่ยาวนานกว่าสินค้าที่ลอกเลียนแบบได้ง่าย อีกมุมมองหนึ่งคือ วงจรชีวิตลูกค้า เช่น เงินที่ลูกค้าจ่าย เวลาและความพยายามในการซื้อ การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ และปัจจัยที่ลูกค้าคิดว่าสำคัญ

การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management: TQM) การทำงานที่เป็นวัฒนธรรมขององค์กร และสมาชิกทุกคนต่างให้ความสำคัญและมีส่วนร่วม ในการพัฒนาการดำเนินงานขององค์การอย่างต่อเนื่อง  โดยมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการ และสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า  ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ  ความได้เปรียบในการแข่งขันและพัฒนาการที่ยั่งยืนขององค์การ ซึ่งหากนำมาประยุกต์ใช้แล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของสินค้า และเป็นแนวทางที่สามารถใช้ลดต้นทุนได้

ระบบการผลิตแบบทันเวลา (Just-In-Time Manufacturing System) ระบบนี้จะเน้นการดำเนินงานให้ทันเวลา ไม่มีงานคงเหลือระหว่างขั้นตอน และการจัดส่งสินค้าจะจัดส่งเมื่อสินค้าผลิตเสร็จ การผลิตแต่ละครั้งจะผลิตเมื่อลูกค้าสั่ง และจะไม่เหลือสินค้าสำเร็จรูปไว้ในคลัง กรณีนี้จะลดความสิ้นเปลืองที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าใดๆ ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการลดต้นทุน ในส่วนของและวิธีการบันทึกบัญชีต้นทุนในระบบผลิตทันเวลาจะใช้วิธีการบันทึกบัญชีแบบย้อนกลับ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการทำงาน

ระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) เน้นการไหลของงานอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการสูญเสียและความสิ้นเปลือง ซึ่งมีหลักการอยู่ 5 ประการคือ 1. คุณค่าของสินค้า/การบริการ สู่ลูกค้า 2.การระบุสายธารแห่งคุณค่า ให้เกิดคุณค่าในตัวสินค้า 3. การดำเนินการให้เกิดกระบวนการไหลอย่างต่อเนื่อง 4. กระบวนการดึงกลับจากความต้องการของลกค้า ให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการขาย 5. การพยายามปรับปรุงแก้ไขไปสู่ความเป็นเลิศ พัฒนาระบบการผลิต ลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยที่องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนทุกสภาพแวดล้องการแข่งขัน ด้วยการลดต้นทุนเพิ่มผลิตภาพ

การบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Accounting) เป็นแนวความคิดบัญชีกับสิ่งแวดล้อมโดยร่วมมือระหว่างผลประโยชน์จากการพัฒนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตที่ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีแนวทางคือ 1. แนวทางสินค้าคงคลัง การระบุ บันทึก ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับทุนธรรมชาติ การเสื่อมสิ้นและผลดีที่กิจการได้รับในอนาคต 2. แนวทางต้นทุนที่ยั่งยืน เป็นความคิดโดยตรงในการบันทึกบัญชีในเรื่องกิจการต้องรักษาระดับทุน หมายความว่ากิจการที่ยั่งยืนต้องไม่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อม ณ วันสิ้นปีย่ำแย่ต่ำลงกว่าวันต้นปีบัญชีนั่นเอง


ที่มา : บทความ กลยุทธ์การบริหารต้นทุนในยุคโลกาภิวัฒน์ Strategic Cost Management in the Globalization



สจจนิรดา : Special : บัญชี
วารสาร : CPD&ACCOUNT พฤษภาคม 2560