บทความเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจ และอาศัยข้อมูลจากบทความเรื่อง “กระแสแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับวิชาชีพสอบบัญชี” โดย ท่านโสภณ   เพิ่มศิริวัลลภ อนุกรรมการในคณะกรรมการด้านการพัฒนาวิชาชีพบัญชี ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร FAP Newsletter ของสภาวิชาชีพบัญชี

ในยุคโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาทางเทคโนโลยีพัฒนารุดหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งในช่วงหลายปีหลังจากที่อินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างเป็นไปอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ส่งผลให้มนุษย์สามารถรับรู้ข้อมูลที่อยู่ห่างไกลได้รวดเร็วเพียงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนั้นแล้วผลพวงของยุคโลกาภิวัฒน์จะทำให้เราพบว่ามีข้อมูลมหาศาลอยู่รอบตัวของเราเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริง ข้อมูลที่เป็นจินตนาการ ข้อมูลภาพ ข้อมูลเสียง และตราบใดที่เทคโนโลยียังคงพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ข้อมูลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งในแง่ของปริมาณและในแง่ของความหลากหลาย เมื่อมีข้อมูลมากมายอย่รายรอบ มนุษย์จึงคิดหาวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต ซึ่งทรัพยากรและกระบวนการในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล อาจแบ่งได้ ดังนี้

  1. Big data (ข้อมูลที่เป็นทรัพยากร)
  2. Data analytics (การจัดการข้อมูล)

Big data
หมายถึง ข้อมูลต่างๆที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา ข้อมูลเหล่านี้เปรียบเสมือนทรัพยากรทางความรู้ของมนุษยชาติ ดังนั้น ในยุคที่การแข่งขันอาศัยข้อมูลเป็นสำคัญ สะท้อนให้เห็นจากการสำรวจของ EY พบว่าผู้บริหารกว่าร้อยละ 80 ให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางในการบริหาร ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้ก่อนย่อมมีโอกาสมากกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่า Big data เป็นทั้งโอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) เนื่องจากว่าหากองค์กรใดมีนำเอา Big data มาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถเพิ่มขีดสมรรถนะการแข่งขันให้กับองค์กร ทำให้องค์กรมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อย่างไม่หยุดนิ่ง แต่อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าองค์กรใดไม่มีความสามารถที่จะบริหารจัดการข้อมูล หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ ย่อมทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรลดลง กระทั่งนำไปสู่ความล้มเหลวขององค์กรในที่สุด

Data analytics
ประการถัดมาจะขอกล่าวถึงการจัดการข้อมูล หรือการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือ Data analytics คือการคิดค้น หาวิธีจัดการกับข้อมูลที่เป็นทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้า พัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลที่หลากหลายมาปรับใช้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการ คัดเลือกข้อมูล จัดเรียงแยกหมวดหมู่ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละองค์กรซึ่งมีความแตกต่างกันไป

Big data & Data analytics ในมุมมองวิชาชีพสอบบัญชี
ในมุมมองสำหรับวิชาชีพสอบบัญชี เราเปรียบเทียบ ข้อมูลรายการทางธุรกิจ และรายการทางบัญชีที่กิจการต่างๆบันทึกอยู่ในบัญชีแยกประเภท (General ledger) และบัญชีย่อย (Subsidiary ledger) งบทดลอง งบการเงินของกิจการ ข้อมูลที่กล่าวมาของกิจการอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ข้อมูลของคู่แข่งทางการค้า เสมือน Big data และในขณะเดียวกัน เราเปรียบความพร้อมในการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานตรวจสอบบัญชี ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ บุคลกรที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยในการจัดการข้อมูล (Data analytics) และอาจกล่าวได้ว่า หากองค์กรใดมี Data analytics ที่ยอดเยี่ยมย่อมส่งผลให้องค์กรนั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก Big data ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด Data analytics เป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้สอบบัญชี ซึ่งจะต้องมีการลงทุนอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุปกรณ์ ทักษะบุคลกร และการควบคุมคุณภาพ ซึ่งบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ (Big4) ใช้ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ แต่สำหรับบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดเล็ก ที่อาจจะมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ในส่วนนี้บุคลากรอาจจะมีความจำเป็นในการปรับตัวทีละนิด เช่น นำโปรแกรมการตรวจสอบบัญชีที่รองรับการใช้ Data analytics มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบบัญชีในองค์กร

นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องของ Data analytics ขั้นสูง ซึ่งประกอบด้วย Machine learning ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้ อาจจะมีส่วนช่วยในการบันทึกและวิเคราะห์กระบวนการทำงานของผู้ตรวจสอบบัญชี เช่น การจัดทำกระดาษทำการ การสอบทาน การอนุมัติ การวางแผนงานการตรวจสอบบัญชี รวมถึงการจัดทำรายการทุกรายการที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อจะทราบว่าการทำงานของผู้ตรวจสอบบัญชีนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และโปร่งใสหรือไม่เพียงใด นอกจากนั้นแล้วยังมี Predictive analytics ที่จะช่วยในการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และ Cognitive computing หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะเป็นตัวช่วยในการหาคำตอบถึงวิธีการตรวจสอบบัญชีที่เหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

 ไม่เพียงแต่วิชาชีพบัญชีเท่านั้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลสามารถนำไปปรับใช้กับวิชาชีพอีกมากมายหลากหลาย อย่างไม่สิ้นสุด เท่าที่ความสามารถของมนุษย์จะสามารถคิดค้นได้ อย่างไรก็ตามการปรับตัวและเปิดมุมมองเพื่อรับสิ่งใหม่ๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยีจัดการกับข้อมูลมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อมุษยชาติอย่างสูงสุด แม้บางองค์กรอาจจะไม่มีขีดความสามารถที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในองค์กร แต่การปรับตัวให้คุ้นชินกับเทคโนโลยีที่ละน้อยก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านขององค์กรเป็นไปได้ในที่สุด

ที่มา : http://www.fap.or.th/images/column_1469686286/FAP_News%2044_web_Up.pdf?mode=preview

 

ข้อมูลจาก : วารสาร CPD & Account ฉบับเดือนสิงหาคม 2559
สจจนิรดา : CLASSIFIED : LIFESTYLE


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ