ทิศทางนักบัญชีไทยในยุค AEC โค้งสุดท้ายก่อนเปิดการค้าเสรีอาเซียน...ประเด็นที่นักบัญชีไทยไม่ควรพลาด

 



     สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ท่านสมาชิกวารสาร CPA&ACCOUNT ทุกท่านครับ ปีใหม่ปีนี้ ขอให้ประสบพบแต่ความสุขความสำเร็จ ประกอบการสิ่งใดก็ราบรื่น รุ่งเรือง ร่ำรวย แข็งแรง กันทั่วหน้านะครับ ในปีนี้น่าจะเป็นปีที่มีอะไรแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคนเช่นกัน เพราะถือได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายแล้วที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดการค้าเสรี แม้ว่าในขณะนี้กระแสนี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนตอนที่มีข่าวใหม่ก็ตาม แต่นักบัญชีทุกท่านก็ไม่ควรมองข้ามที่จะต้องเตรียมการเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะตามมาในอนาคต

ในช่วงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปฟังบรรยาพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ และอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่นักบัญชีจะต้องเตรียมการ ซึ่งผมได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญมา Updateความรู้ให้กับทุกท่าน เรามาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้างที่นักบัญชีต้องเตรียมความพร้อม

     1หัวข้อการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ที่เก็บรวบรวมมาฝากคือ “ทิศทางนักบัญชีไทยกับพระราชบัญญัติการบัญชี” ซึ่งได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คุณวิชัย  โภชนกิจ ได้มาอภิปรายประเด็นที่นักบัญชีต้องเตรียมความพร้อม ก็คือ 

     กฎหมายบัญชีของไทยที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2557 โดยประกาศฉบับใหม่นั้นมีการยกเลิกของเดิม 7 ฉบับ โดยในขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีการนับชั่วโมงการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ดังนี้

     ประกาศฉบับเดิม-เรื่องการอบรมฯ

         1 รอบ = 3 ปี
         27 ชั่วโมง โดยชั่วโมงบัญชีไม่น้อยกว่า 18 ชม.
         อบรมปีละ 6 ชั่วโมง
         แจ้งผลการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่สิ้นปีปฏิทิน


      ประกาศฉบับใหม่-เรื่องการอบรมฯ
         
          นับเป็นปีปฏิทิน 12 ชั่วโมงต่อปี
          จำนวนชั่วโมงบัญชีไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
          ผู้ที่แจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีปีแรกมีระยะเวลาที่เหลือหลังจากการแจ้งในปีนั้นน้อยกว่า 6 เดือน    
          (คือแจ้งหลัง 30 มิถุนายนของปี) ให้เริ่มพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพในปีถัดไป
          แจ้งผลการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่สิ้นปีปฏิทิน

     เมื่อนักบัญชีที่ได้มีพัฒนาความรู้ฯ เรียบร้อยแล้วนั้น ให้ทำการยื่น www.dbd.go.th ไปที่หัวข้อบริการออนไลน์ และเลือกที่เมนู e-Accountant ครับ และนอกจากการอบรมพัฒนาความรู้ฯ แล้วยังมีเรื่องที่สำคัญคือการแจ้งยืนยันตนเองของผู้ทำบัญชี ผ่านระบบ e-Accountant ก็จะต้องดำเนินการทุกปีอีกด้วย โดยกรอบของประกาศฉบับนี้ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของจำนวนนิติบุคคลที่นักบัญชีดำเนินการจัดทำบัญชีให้ต้องไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน 

     จากที่กล่าวมานั้น สาเหตุที่มีการแก้ไขประกาศกรมฯ ก็เนื่องจากว่าประกาศเดิมนั้นไม่มีความยืดหยุ่น และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งมีการลดความซ้ำซ้อนในบางเรื่องซึ่งก็จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น

     นอกจากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชีที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกก็คือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีการกล่าวถึงธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่มีการกล่าวถึงก็คือ กิจการบริการทางบัญชี แม้ว่าจะมีการกำหนดให้วิชาชีพบัญชี เป็นวิชาชีพที่เปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ก็ตาม การที่ในอนาคตจะมีนักบัญชีจากต่างชาติมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรืออาจรวมถึงการที่จะมีชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสำนักงานบัญชี/สอบบัญชี ในประเทศไทย ก็จะต้องมีกระบวนการในการควบคุมการเข้ามาปฏิบัติงาน ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้มีการให้แนวปฏิบัติไว้เช่นกัน

     MRA วิชาชีพด้านบัญชี ว่าด้วย “ข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติสาขาวิชาชีพ (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Accountancy Services)” โดยถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการอำนวยความสะดวกในการเข้าไปให้บริการด้านบัญชีในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งกรอบข้อตกลง MRA นั้นได้มีการระบุถึงคุณสมบัติที่มีการเจรจาเพื่อยอมรับร่วมกัน เช่น ด้านการศึกษา ประกอบการณ์ทำงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพในประเทศหนึ่ง ๆ ทั้งนี้ กรอบข้อตกลง MRA ไม่ได้เป็นการเปิดตลาด แต่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขอใบอนุญาต โดยลดขั้นตอนการตรวจสอบรับรองวุฒิการศึกษาหรือความรู้ทางวิชาชีพเท่านั้น

    สำหรับความคืบหน้าของกรอบข้อตกลง MRA ในขณะนี้ได้มีการลงนามกันแล้ว 9 ประเทศ ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้มีการร่วมลงนามในกรอบข้อตกลงกล่าว ทั้งนี้กรอบข้อตกลง MRA ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติของนักบัญชีอาเซียน (ASEAN Chartered Professional Accountant: ACPA) ไว้ 5 ประการด้วยกันคือ

      สำเร็จวุฒิการศึกษาด้านบัญชี หรือหลักสูตรการทดสอบความรู้ด้านบัญชี ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านบัญชีแห่งชาติ (National Accountant Body: NAB) และ/หรือ หน่วยงานกำกับดูแลวิชาชีพ (Professional Regulatory Authority: PRA) ของประเทศต้นทาง หรือประเทศปลายทาง (เทียบเคียงหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยก็คือ สภาวิชาชีพบัญชีฯ)

     ได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ ที่ออกโดย NAB และ/หรือ PRA ของประเทศต้นทาง

     มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปี และต้องสะสมอยู่ภายใน 5 ปี หลังจากได้วุฒิการศึกษาดังกล่าวข้างต้น

     ปฏิบัติตามนโยบายการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพในประเทศต้นทาง

     ได้รับการรับรองจาก NAB และ/หรือ PRA ของประเทศต้นทาง ว่าไม่เคยฝ่าฝืนด้านจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ

     อย่างไรก็ตาม ท่านรองอธิบดีฯ ก็ได้ฝากเน้นย้ำว่า นักบัญชีควรติดตามความก้าวหน้าทางวิชาชีพทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะด้านภาษา เพิ่มเติมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงการพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านบัญชีอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาศักยภาพของตนเอง พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบสารสนเทศทางการบัญชีให้ทันต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

     2หัวข้อการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ที่เก็บรวบรวมมาฝากคือ “ทิศทางมาตรฐานการรายงานทางการเงิน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ได้มาอภิปรายประเด็นที่นักบัญชีต้องเตรียมความพร้อม ก็คือ

     ทิศทางของมาตรฐานการบัญชี IFRS for SMEs ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านบัญชีในอนาคต ซึ่งการจะนำมาตรฐานชุดนี้มาใช้ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้ให้เหตุผลว่า มาตรฐานสำหรับกิจการ NPAEs เดิมนั้น ยังไม่มีความทันสมัย ทัดเทียบกับสากล ดังนั้นจึงต้องการยกระดับการจัดทำบัญชีให้สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ในการตัดสินใจ และแข่งขันได้ในอนาคต ประกอบกับมาตรฐานฉบับเดิมที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน ทำให้กิจการที่ใช้มาตรฐาน NPAEs ที่เป็นบริษัทจำกัดที่มีขนาดใหญ่ อาจไม่สามารถพึ่งพาเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีของ NPAEs นั้นไม่ได้บังคับให้ต้องจัดทำ งบกระแสเงินสด งบการเงินรวม และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ประเด็นเหล่านี้จึงทำให้การพิจารณาเงินทุนจากสถาบันการเงิน ทำได้ค่อนข้างยาก

     จากที่สรุปประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ในอนาคตนั้นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี จะมีการกำหนดคำนิยามของกิจการ NPAEs ขนาดใหญ่ กับ ขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS for SMEs ที่มีทั้งสิ้น 35 บท เมื่อเทียบกับ NPAEs นั้นจะมีเพียง 22 บท ซึ่งทิศทางของมาตรฐานนั้น ก็จะมีการแบ่งได้ดังนี้

     NPAEs ขนาดใหญ่
         - กิจการที่เป็นบริษัทใหญ่ / บริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ
         - บริษัทย่อย ของบริษัทใหญ่ที่เป็นกิจการ PAEs
         - กิจการ NPAEs ขนาดใหญ่ ถือปฏิบัติตาม IFRS for SME โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ถือปฏิบัติตาม
           บางบท (ยกเว้นมาตรฐานเครื่องมือทางการเงิน อาจมีการผ่อนผันไปจนกว่ารอบบัญชี 2562)

     NPAEs ขนาดกลางและขนาดย่อม
        - กิจการที่ไม่ใช่กิจการขนาดใหญ่
        - กิจการ NPAEs ขนาดกลางและขนาดย่อม ถือปฏิบัติตาม IFRS for SMEs โดยมีข้อยกเว้นไม่
          ถือปฏิบัติตามบางบท รวมถึงเครื่องมือทางการเงิน

    ทิศทางของมาตรฐานการบัญชี PACK FIVE ซึ่งเป็นกลุ่มมาตรฐานที่มีการออกมาเพื่อบังคับใช้กับกิจการที่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี (PAEs) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้

     อาจทำให้บริษัทที่เคยจัดประเภทเป็นบริษัทร่วม ตกเป็นบริษัทย่อยตามคำนิยามใหม่ และต้องนำมาจัดทำงบการเงินรวมเพิ่มเติม ทั้งนี้อาจจะรวมถึงกิจการที่เป็นกองทุนบางกอง ด้วย ซึ่งผลกระทบที่กล่าวมานี้อาจส่งผลกับอัตราส่วนทางการเงิน

     อาจทำให้ไม่สามารถใช้วิธีรวมแบบสัดส่วน (Proportionate consolidation) ซึ่งจะต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีส่วนได้เสีย (Equity method) แทน และนอกจากนั้นอาจทำให้ต้องยกเลิกการใช้วิธีส่วนได้เสีย (Equity method) กับกิจการที่ตกเป็นกิจการร่วมค้าตามคำนิยามเดิม ซึ่งกลุ่มมาตรฐานนี้ได้มีการกำหนดนิยามใหม่คือการดำเนินงานร่วมกัน (Joint Operation) และต้องเปลี่ยนมาจัดทำงบรวมที่คล้ายกับวิธีรวมเป็นสัดส่วนแทน

    อาจทำให้มีผลต่อการเลือกแสดงรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (PPE) ด้วยราคาที่ตีใหม่ ต้องทบทวนวิธีการประเมินราคาหากวิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฯ ใหม่ และยังมีผลกระบต่อไปยังสถานบันการเงินที่จะต้องทบทวนวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ และหนี้สิน บางรายการ หากวิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฯ ใหม่ ครับ

     ทั้งหมดที่ได้สรุปมานั้นเป็นเพียงแค่ทิศทาง และความเคลื่อนไหวของมาตรฐานที่จะมีเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับต่อการเติบโตทางธุรกิจ และทำให้การจัดทำบัญชีของไทยสามารถจัดทำรายงานทางการเงิน หรือนำเสนองบการเงินที่มีคุณภาพ สามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อการเปิดการค้าเสรีอาเซียนในอนาคตอีกด้วย โดยประเด็นสำคัญที่ท่านอาจารย์ ดร.วรศักดิ์ ได้พยายามเน้นย้ำกับนักบัญชีทุกท่าน ก็คือ การติดตามความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการบัญชี-มาตรฐานรายงานทางการเงิน ซึ่งในอนาคตนั้นสภาวิชาชีพจะมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IFRS)

     เอาละครับ เนื้อหาที่ได้กล่าวมานั้นยังไม่หมดนะครับ ยังมีเรื่องที่ต้อง Update ความรู้กันอีกมากมาย แต่พื้นที่ที่ผมจะเขียนเพื่อเล่าสู่กันฟัง และร่วมแบ่งปันความรู้ให้กับนักบัญชีในเดือนนี้นั้นได้หมดลงแล้ว สำหรับผมเองก็อยากฝากให้นักบัญชีทุกท่านได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยท่านสามารถติดตามข่าวสารได้ทุกที่ครับไม่ว่าจะเป็นข่าวสารในวารสารของธรรมนิติ หรือที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาวิชาชีพบัญชีฯ หรือท่านจะเลือกเข้ามาอบรมพัฒนาความรู้กับทางสถาบันก็ได้อีกเช่นกันครับ โดยเข้าไปเลือกหลักสูตรการอบรมพัฒนาความรู้ได้ที่ www.dst.co.th หรือสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ 0-2555-0700 ครับ และเช่นเคยครับ สำหรับเดือนนี้คงต้องลากันไปก่อนแล้วพบกันในเดือนต่อไป ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับปีแพะ กันทุกท่านนะครับ ^^ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ครับ


ข้อมูลจาก : วารสาร CPD & Account ฉบับเดือนมกราคม 2558


 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ